วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม
ประวัติความเป็นมาของวันปิยมหาราช
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่ เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า “วันปิยมหาราช”และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ
เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น “กรุงเทพมหานคร” ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น “สำนักพระราชวัง” ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
วันปิยมหาราช
วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช“
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396 ณ พระตำหนักเดิมตรงพระที่นั่งสมมติเทวราชอุบัติ ในหมู่หนึ่งของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงมีพระนามชั้นเดิมว่า ” เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับผม หรือ พระเกี้ยว สำหรับ ประดับหัวจุกของเด็กไทยโบราณี
“ทรงเป็นสมเด็จพระปิโยรส ของสมเด็จพระบรมชนกนาถตั้งแต่ทรงพระเยาว์วัย”
เมื่อทรงเจริญพระชันษาสมควรแก่การศึกษา ได้ทรงพระอักษร และเริ่มเรียนในสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี ขัตติยราชนารี ผู้ทรงรอบรู้ศิลปวิทยาการหลายแขนง ตลอดจนโบราณราชประเพณี และได้ทรงศึกษาภาษาบาลี วิชาปืนไฟ มวยปล้ำ กระบี่กระบอง คชกรรม อัศวกรรม จากสำนักเจ้านายและขุนนางอื่นๆ ที่เป็นผู้ทรงความรู้อันสมควรแก่พระราชกุมาร สมเด็จพระราชบิดาผู้ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกล ทรงตระหนักดีว่าวิชาการสมัยใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ แต่ยังไม่มีในภาษาไทย จึงทรงว่าจ้างครูสตรีชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษแก่สมเด็จพระบรมราชโอรสด้วย แม้ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ท่านก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษตลอดเวลา นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เมื่อเสด็จต่างประเทศก็ตรัสภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ราชประเพณี โบราณคดีทั้งปวงนั้น สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานพระบรมราโชวาทฝึกสอนด้วยพระองค์เอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น พระราชโอรสองค์ที่ 9 ในจำนวนพระราชโอรส ธิดาทั้งสิ้น 82 พระองค์ ในราชวงศ์จักรี ขณะพระชันษา 9 พรรษา ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรกาศ ตรงกับ ปีระกา พ.ศ. 2404 ต่อมาอีก 4 ปี ก็ได้รับสถาปนาเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ต่อมาใน ปีเถาะ พ.ศ. 2411 ได้ทรงกำกับราชการ ในกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมทหารบกวังหน้า ในช่วงซึ่งพระองค์ได้ ตามเสด็จพระราชบิดา เพื่อทอดพระเนตร สุริยปราคา ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้เกิด ประชวรด้วยไข้ป่า อย่างแรงทั้งสองพระองค์ และในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสู่ สวรรคตใน ในขณะซึ่งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ มีพระชนมายุเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ทั้งยังทรงประชวรด้วยไข้ป่าอย่างหนัก เกือบจะสิ้นพระชันษาด้วย ได้รับให้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ในวันเดียวกัน แต่ด้วยที่วัยพระองค์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ โดยความเห็นชอบของที่ประชุมเสนาบดี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาเมื่อวันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2416 และทรงลาผนวชใน วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2416 ทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ครั้งที่ สอง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2416 ในปีต่อมาได้กระทำการสำคัญยิ่งใหญ่คือ การเลิกทาส พระองค์สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยมิได้เกิดเหตุร้ายภายในขึ้นเยี่ยงการเลิกทาสในนานาประเทศ และทรงโปรดฯ ให้มีการตราพระราชบัญญัติเลิกทาส ในปี พ.ศ. 2417
สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ นานถึง 42 ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารทุกพระองค์ ด้วยพระจริยวัตรและพระปรีชาสามารถอย่างเฉลียวฉลาด ของพระองค์ ได้ทรงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงประเทศ โดยการวางรากฐานความเจริญในด้านต่างๆ ตลอดเวลา 42 ปี ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศไทยรุดหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทรงพัฒนาฟันฝ่าอุปสรรค นานับประการ ทั้งต่อสู่กับการไล่ล่าเมืองขึ้นของบรรดาชาติมหาอำนาจ ในยุคนั้นมาได้ แม้จะเป็นการสูญเสียดินแดน ไปบางส่วน แต่พระองค์ทรงไว้ซึ่งความสุขุม พาประเทศชาติของพระองค์รอดพ้น จากการตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับซีกโลกส่วนนี้ของโลก ที่ ประเทศสยามแห่งนี้มิได้ตกเป็นทาสใคร ด้วยสายพระเนตรมองไกลของพระองค์ ได้ทรงพัฒนานำความเจริญ ก้าวหน้า เร่งรัดในแขนงต่างๆ ทั้ง การพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน และความมั่นคงของบ้าน อีกทั้งพระองค์ยังทรงสนพระทัยถึงความเป็น อยู่ของประชาชน ทรงออกเยี่ยมประชาราษฎร์ อยู่เป็นเนืองนิจ พระองค์จึงเป็นที่จงรักภักดี ของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน
การเสด็จยังต่างประเทศ เปรียบเสมือนเปิดประตูสู่โลกกว้างในช่วงของต้นรัชกาล พระองค์ทรงเสด็จประพาส สิงคโปร์ ชวา พม่า อินเดีย และ หลายๆ ประเทศ ทรงเสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง ด้วยกัน คือในปี พ.ศ. 2440 และในปี พ.ศ. 2450 แนวทางความสัมพันธ์ด้วยการทูตของพระองค์ท่าน ทำให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วยุโรป ข้อพิพาท และปัญหาต่างๆ ก็ได้คลายเบาบางลง ความลึกซึ้งพระปรีชาของพระองค์ ได้ทำให้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องของชายแดน ไทย-อังกฤษ หรือกับฝรั่งเศส ได้ผ่อนคลายในที่สุด
ความล้ำลึกในพระปรีชาสามารถในด้านวรรณกรรม พระองค์ก็ทรงเป็นได้ทั้ง กวี และ นักประพันธ์ ที่มีความสามารถอย่างลึกซึ้งทีเดียว การแต่งโคลง ฉันท์ บทละคร กาพย์ กลอน หรือ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง ทั้งที่พระองค์ทรงมีภารกิจอยู่มากมาย แต่ก็ด้วยพระวิรยะ อุตสาหะ ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดั่งที่ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์มีมากกว่า 30 เรื่อง ซึ่งก็มีบางเรื่องที่มีความหนาถึงกว่า 500 หน้าก็มี ดั่งบางพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งของพระองค์
“ความรู้ คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริต คือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง
ปัญญา ประดุจดัง อาวุธ
คุมสติ ต่างโล่ป้อง อาจแกล้ว กลางสนาม”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร พระวักกะ (ไต) พิการ กระทั่ง เวลา 24 นาฬิกา 45 นาที ของคืนวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ได้เสด็จสู่สวรรคต รวมพระชนอายุ 57 พรรษา ทรงเสวยราชย์ 42 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินสยาม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสุดคณานับทั้งประโยชน์ สุข ความเจริญรุ่งเรือง นำชาติให้เป็นที่ยอมรับของ นานาชาติ พระคุณสุดล้นที่จะพรรณนาจากใจของประชาชนชาวไทยได้หมด พระองค์จึงเป็นที่รักเคารพของคนไทยเสมอมา
สมเด็จพระปิยมหาราช เป็นพระนามที่ได้รับการถวาย โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ทรงคิดถวาย ซึ่งปรากฏอยู่บนจารึกใต้ฐาน ของ พระบรมรูปทรงม้า (2451) พระนามนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเขียน ชมเชย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้คิดพระนามนี้ถวาย
วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกๆ ปี ประชาชนคนไทย ทั้งชาติ ถือเป็นวันแห่งการน้อมรำลึกถึงพระองค์อย่างไม่มีเสื่อมคลาย วาระวันคล้ายวันที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคต เป็นวันสำคัญที่สุดอีกวันหนึ่ง ที่จะเทิดพระเกียรติ พระปิยมหาราช ไว้ตลอดกาลนาน.
วันปิยมหาราชครั้งแรก
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์