เทศกาลสำคัญของจีน

หลายๆคนอาจจะมีเชื้อสายจีนกันไม่มากก็น้อย หรือบางคนอาจจะเป็นไทยแท้แบบไม่มีใครในบรรพบุรุษเป็นคนจีนเลย แต่ดั๊นอยากรู้เทศกาลสำคัญของจีน แถมเทศกาลของจีนยังมีเยอะ วันนี้เลือกเทศกาลของจีนที่สำคัญๆมานำเสนอทุกๆคนนนนนนนนน

 

1.เทศกาลวันตรุษจีน

 

เทศกาลตรุษจีน หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (Spring Festival) เทศกาลที่สำคัญมากของชาวจีนทั้งที่แผ่นดินใหญ่และผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนจีนในประเทศต่างๆ นับเป็นวันพิเศษและมีความสำคัญยิ่งสำหรับคนจีน จะมีการเฉลิมฉลองกันไปทั่วโลกจะจัดงานฉลองปีใหม่โดยเริ่มขึ้นในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 15 ซึ่งตรงกับเทศกาลหยวนเซียว ซึ่งในวันตรุษจีนนี้ชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนถือว่าเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะไปประกอบธุรกิจการงานที่ไหน หากอยู่ในจังหวัดหรือในประเทศเดียวกัน บรรดาสมาชิกในครอบครัวชาวจีนเหล่านั้น จะกลับบ้านมาพบปะกันอย่างพร้อมเพรียงกัน คล้ายกับวันสงกรานต์ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย

2. วันเช็งเม้ง

 

วันเช็งเม้ง เป็นงานที่สำคัญมากที่สุดของชาวจีน มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี เป็นวันที่ลูกหลานชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนพากันไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสานฝังศพ (ฮวงจุ้ย) เพื่อแสดงความกตัญญูและรำลึกถึงคุณ งามความดีของบรรพบุรุษ สำหรับในประเทศไทยวันเช็งเม้งถือวันที่ ๕ เมษายนของทุกปีเป็นหลัก

3.พิธีไหว้บ๊ะจ่าง

เทศกาลวันไหว้บ๊ะจ่าง (ขนมจ้าง) หรือเทศกาลตวนอู่ หรือเทศกาลตวงโหงว เป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของชาวจีนทั้งในประเทศจีนและประเทศต่างๆ ตรงกับวันที่ ๕ เดือน ๕ ตามปฏิทินทางจันทรคติ เพื่อระลึกถึง “ซีหยวน” หรือ “คุกง้วน” (Qu Yuan) กวีผู้รักชาติที่ปลิดชีวิตตนเองโดยการกระโดดลงแม่น้ำฉางเจียง หรือ แม่น้ำแยงซี (Yangtze River) เนื่องจากถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายเพราะไม่พอใจในความซื่อตรงของซีหยวนจนทำให้ สูญเสียผลประโยชน์ นอกจากนี้ทางรัฐบาลจีนยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันกวีจีน (The Chinese Poet’s Day) เนื่องจากซีหยวนเป็นกวีคนสำคัญของจีน ซึ่งตามทัศนะคติของชาวจีนเชื่อว่า เป็นเทศกาลที่แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

4. วันสารทจีน

วันสารทจีน หรือ เทศกาลสารทจีน (Sart Chin Day or Ghost Festival or Spirit Festival) ตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปีปฏิทินทางจันทรคติของจีน โดยปกติแล้วจะช้ากว่าปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยประมาณ 2 เดือน ซึ่งตามปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยวันสารทจีนจะตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้อีกด้วย

5. เทศกาลไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมาเป็นพันปี ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ส่วนตามจันทรคติแบบไทยจะประมาณเดือนกันยายนของทุกปี เนื่องจากเทศกาลนี้จัดขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า “จงชิว” (Zhong Qiu) เพื่อระลึกถึงฉางเอ๋อ (Chang’e) เทพธิดาแห่งพระจันทร์ซึ่งเชื่อกันว่าถือกำเนิดในวันนี้ และมีความเชื่อที่ว่าในคืนนี้จะสามารถมองเห็นดวงจันทร์กลม ใหญ่ และสว่างมากที่สุดในรอบปี กิจกรรมต่างๆจึงจัดขึ้นในคืนนี้ ซึ่งพอถึงเทศกาลนี้ ชาวไทยเชื้อสายจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้พระจันทร์และเจ้าแม่กวนอิมพร้อมกัน

6. เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ เป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋ารวม 9 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี (รวมเป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน) ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของไทย ดังนั้น เทศกาลกินเจจึงอยู่ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกๆ ปี ปัจจุบันเทศกาลกินเจจัดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ตลอดจนหมู่เกาะเรียวในอินโดนีเซียและอาจมีในบางประเทศเอชีย เช่น ภูฏาน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศจีน(ประกอบด้วยฮ่องกงและมฑทณไต้หวัน) ซึ่งการกินเจในเดือน 9 นี้ เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2170 ตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยา

7. เทศกาลตังโจ่ย

เทศกาลตังโจ่ย หรือเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย (ขนมอี๊) คือวันเปลี่ยนเทศกาลเป็นฤดูหนาว มีลักษณะเป็นวันที่พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นที่สุดหรือวันที่เป็นจุดสูงสุดในฤดูหนาว ถือเป็นเทศกาลสุดท้ายของชาวจีนในรอบหนึ่งปี ซึ่งจะตรงกับเดือน ๑๑ ของจีน และโดยประมาณแล้วจะตรงกับวันที่ ๒๒ ธันวาคม (ตามปฏิทินสากล) ของทุกปีในเทศกาลนี้ชาวจีนจะทำขนมบัวลอยมาไหว้ฟ้าดิน ปึ๋งเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย (เจ้าที่) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัวดำรงมาได้อย่างราบรื่นตลอดปีที่ผ่านมา และเพื่อความสมัครสมานสามัคคีกันของทุกคนในครอบครัวอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *