ทำบุญวันพระใหญ่ ได้บุญมากกว่า ทำบุญวันธรรมดา จริงหรือ?

ทำบุญวันพระใหญ่

ทำบุญวันพระใหญ่ ได้บุญมากกว่า ทำบุญวันธรรมดา จริงหรือ?

เรื่องบุญเรื่องทานนั้นอยู่ในสายเลือดของคนไทยเลยก็ว่าได้ โดยคนไทยมักเข้าใจว่า ทำบุญวันพระใหญ่ มักจะได้บุญเยอะกว่าทำบุญวันพระ หรือทำบุญวันธรรมดา ลองมาดูกันค่ะว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

เราลองมาดูคำถามที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญดูก่อนนะคะ…

คำถาม : การไปทําบุญที่วัด กับการทําบุญช่วยเหลือคน ตามสถานสงเคราะห์ อย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน

คำถามนี้ตอบโดยพระพงศ์ศักดิ์ ญาณวังโส วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร ท่านตอบว่า

การไปทําบุญที่วัดได้บุญมากกว่า เพราะเป็นการทําบุญ กับพระสงฆ์ซึ่งมีศีลมากกว่า อย่างไรก็ดี การไปทําบุญที่ไหน ก็ได้บุญเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือสถานสงเคราะห์ เพียงแต่ต้องมีเจตนาที่ดีหรือมีจุดประสงค์ที่ดี ไม่มีเจตนา แอบแฝง หากเป็นการทําบุญเพื่อหวังจะเอาทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น อย่างนั้นได้บาปแน่นอน แต่ถ้าหวังเพื่อที่จะสะสม

คุณงามความดี ย่อมได้บุญเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ การไปทําบุญจะได้บุญเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องพร้อม ทั้งกาย วาจา และใจ กายดี วาจาดี ใจดี ก็ได้บุญเต็มที่แล้ว เพราะว่าจิตใสเป็นบุญ จิตขุ่นเป็นบาป เพราะฉะนั้นต้องทําจิตให้เบิกบานเพื่อรับเอาบุญที่จะทําให้เต็มที่

คำถาม : คนทําบุญสลึงเดียวได้บุญ เท่ากับทําทีละล้าน ถ้ามีจิตบริสุทธิ์นั้น จริงหรือคะ

คำถามนี้ตอบโดยพระอาจารย์มานพ อุปสโม ท่านตอบว่า

จริงสิ เพราะบุญมากหรือน้อยวัดกันที่เจตนา คนมีเงินเป็นร้อยล้านพันล้านถึงจะบริจาคทีละรถสิบล้อ เขาก็อาจจะรู้สึกเฉยๆ ถ้าเฉยละก็ไม่ค่อยได้บุญหรอกนะในขณะที่บางคนถวายผ้าเก่าๆผืนเดียว แต่มีค่ายิ่งกว่าเงินสิบล้านเป็นไหนๆ

ไตรปิฎกกล่าวถึงพรามณ์จูเฬกสาฎก(จู-เล-กะ-สา-ดก) และนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาทั้งคู่มีผ้าห่มผืนเดียว เพราะฉะนั้นตอนไปฟังธรรมก็ต้องผลัดกันไปภรรยาไปตอนกลางวัน แล้วก็กลับมาผลัดให้สามีไปตอนกลางคืน ทีนี้พอสามีฟังธรรมแล้วก็เกิดศรัทธาอยากถวายของแด่พระพุทธเจ้าแต่สํารวจดูจนทั่วก็ไม่มีอะไรอื่นที่พอจะถวายได้ นอกจากผ้าที่ห่มอยู่แต่เพราะมีอยู่แค่ผืนเดียว พอคิดจะให้ปุ๊บมัจฉริยะ คือ ความตระหนีก็เกิดปั๊บมันแย้งขึ้นมาทันทีว่า “จะให้ได้อย่างไร เดี๋ยวตอนเช้าภรรยาจะเอาที่ไหนห่ม”

ท่านกับการรบนั้นเสมอกัน เพราะเมื่อมัจฉริยะเกิดจาคะคือความเสียสละก็เกิดไม่ได้ จาคะกับมัจฉริยะจะรบกันจนตัวเราร้อนฉ่า พราหมณ์สามีสู้กับจิตใจตัวเอง ตั้งแต่หัวค่ําตอนยามที่หนึ่ง และยามที่สองจิตคิดจะให้เกิดครั้งเดียว แต่จิตที่คิดจะไม่ให้เกิดเป็นพันครั้งกระทั่งถึงยามที่สามจึงตัดสินใจได้เด็ดขาด นําผ้าผืนเดียวที่มีอยู่ไปถวายพระพุทธเจ้า

พอถวายเสร็จด้วยความปีติพราหมณ์ก็เปล่งเสียงอุทานว่า “ชิตํ เม ชิตํ เม” (เราชนะแล้วๆ) วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลนั่งฟังธรรมอยู่ด้วยได้ยิน  จึงให้คนไปถามว่า ชนะอะไร พราหมณ์ก็ตอบว่า ไม่ได้ชนะอะไรหรอก แต่ชนะใจตัวเอง

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเกิดความเลื่อมใส จึงพระราชทานผ้าและทรัพย์สินให้พราหมณ์จํานวนมาก จากคนยากจนเข็ญใจจึงกลายเป็นคนมีอันจะกินในชั่วข้ามคืน

กรรมที่ได้ถวายผ้าครั้งนั้นเป็นบุญใหญ่ เพราะเป็นการสละสิ่งที่มีค่ามหาศาลสําหรับเจ้าของ บุญมากหรือน้อยวัดกันตรงนี้อันไหนที่สละยากให้แล้วหาที่ไหนไม่ได้ หรือการทําของที่ไม่มีให้เกิดมีขึ้นจะมีค่ามาก และให้ผลเร็วกรรมที่เราทําทั้งดี และไม่ดีส่งผลเร็วช้าต่างกัน

กรรมที่ส่งผลในชาตินี้มีสองอย่าง คือ กรรมที่ส่งผลภายใน 7 วันเรียกว่า ปริปักกทิฏฐธัมมเวทนียกรรม

ถ้าให้ผลหลัง 7 วันเรียกว่า อปริปักกทิฏฐธัมมเวทนียกรรม

กรรมที่ให้ผลในภพชาติที่สอง เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม

ถ้าให้ผลในภพที่สามเป็นต้นไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม

และถ้ากรรมไม่ให้ผลเลยเรียกว่า อโหสิกรรม

 

 

 

 

พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ท่านเคยได้กล่าวไว้ในเพจของท่านไว้ว่า…

“เจริญพร..การให้ทานที่มีอานิสงส์มากนั้น มีองค์ประกอบหลักคือ ผู้รับทานบริสุทธิ์ ของที่ให้ทานได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาการให้บริสุทธิ์ ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าวันนั้น วันพระ หรือวันธรรมดา ถ้าโยมว่าทำบุญวันพระได้บุญมากกว่าวันธรรมดา โยมก็ทำบุญเฉพาะวันพระ ที่จริงพระก็ฉันอาหารทุกวัน ไม่ใช่ว่าฉันวันพระแล้วอยู่ไปได้อีกหกวัน พระนะโยมไม่ใช่งูเหลือม

ไม่ว่าเราจะทำบุญวันธรรมดา หรือวันพระ จะได้บุญมาก หรือ อยู่ที่เจตนาของโยมเป็นสำคัญ ถ้าโยมปีติยินดีในบุญที่ทำ บุญก็จะชำระใจโยมให้สะอาดได้

สรุปว่า…ที่คนนิยมไปทำบุญวันพระ เพราะว่า จะได้รักษาศีล ให้ทาน และถือโอกาสในการฟังธรรมด้วย..เจริญพร”

นอกจากนี้พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญโญ ได้เคยสอนไว้ว่า ในการทำบุญ หรือขอพร ทุกคนอยากได้สิ่งที่ดีในชีวิต แต่พรที่ดี บุญที่ดีไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหร พรที่ดี บุญที่ดีอยู่ที่ตัวเรานี่แหละ ทำดีเมื่อไหร่ ได้ดีทันที ขณะที่คิดดี ทำดี พูดดี ผลที่เกิดขึ้นถือเป็นพร เป็นบุญอันประเสริฐ ไม่มีใครทำอะไรให้เราได้ ถ้าเราไม่ทำด้วยตัวเอง จริงๆ แล้ว วันเทศกาลต่างๆ เป็นการสมมุติของชาวโลกว่าวันนี้ต้องทำบุญเยอะๆ วันนี้ต้องทำเช่นนี้ จริงๆ แล้ว วันที่ดีที่สุดคือวันที่เราทำความดี

หากสรุปกล่าวคือ จะทำบุญวันไหนก็ได้บุญเหมือนกัน หากเราไปทําบุญด้วยความตั้งใจดี โดยไม่ลืมที่จะนึกถึงความสําคัญว่า วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในแต่ละวันนั้นมีความสำคัญอย่างไร และระลึกถึงบุญคุณที่พระองค์เผยแผ่ธรรมะที่ทําให้เราได้รู้บาปบุญคุณโทษ ได้รู้หนทางที่จะมีความสุข เราก็จะกลับบ้านพร้อมกับบุญด้วยจิตใจที่มีความสุข อิ่มบุญ อิ่มอก อิ่มใจ แต่ในวันพระนั้นจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีลด้วย เพราะได้ครบทั้งทานมัย ศีลมัย ภาวนามัยนั่นเอง


ทำบุญอย่างฉลาดไม่เสียสักบาท แต่ได้บุญเต็มๆ

ศีล เป็นการทำบุญที่ละเอียดขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น เพราหากผู้ใดสามารถรักษาศีลได้ครบถ้วน ศีลจะทำให้ชีวิตผู้นั้นมีความปกติสุข แต่หากผู้ใดมีศีลน้อยลงเท่าใด ความเป็นมนุษย์ในบุคคลนั้นย่อมลดน้อยลงไปด้วย

ดังนั้นการมีศีลจึงเรียกว่าเป็นการทำบุญที่เริ่มจากตนเองอย่างแท้จริง และเป็นการทำบุญที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด อาศัยเพียงจิตที่ตั้งมั่น ก็ว่าได้  จากนั้นอาจจะเริ่มต้นด้วยการรักษาศีลห้าในวันเกิด การรักษาศีลห้าให้ได้สัปดาห์ละหนึ่งวัน หากทำได้สักครั้งโดยที่ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย การรักษาศีลครั้งต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึงการรักษาศีลห้าไปตลอดชีวิตที่จะตามมาในที่สุด


ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก : นิตยสาร Secret , https://www.facebook.com/Dhammadelivery2559/

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *